น้ำอบไทย และแป้งร่ำ ณ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม
8 เมษายน 2560
ตอนเรียนวิทยาลัยในวังหญิง นอกจากวิชาดอกไม้สดที่เป็นวิชาหลักแล้ว คนที่เรียนต้องเรียนวิชาเลือกด้วยในเทอมที่สอง โดยจะใช้เวลาเรียนอีก 40 ชั่วโมง ซึ่งจะมีวิชา พับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปสัตว์, การทำบายศรี, การประดิษฐ์ใบตอง, การประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง และ เครื่องหอมไทย วิชาเลือกสามารถลงเรียนได้แค่วิชาเดียว รรินเลือกเรียนวิชาการประดิษฐ์ใบตอง เพราะน่าจะนำมาใช้งานคู่กับงานดอกไม้มากที่สุด
วิชาเลือกที่อยากเรียนอีกวิชาหนึ่งก็คือ เครื่องหอมไทย ซึ่งจะเรียนการทำเทียนอบ แป้งร่ำ น้ำอบไทย และบุหงา ตอนช่วงเรียนวิชาเลือก ในขณะนั่งเย็บภาชนะใบตอง ตาก็คอยชะเง้อออกนอกหน้าต่างว่า คนเรียนเครื่องหอมไทยเขาทำอะไรกันบ้างน้า... แต่แล้วก็ก้มหน้าก้มตาเย็บใบตองต่อไป เพราะเดี๋ยวงานเสร็จไม่ทัน....
จากวันนั้นจนวันนี้ เกือบ 9 ปี เพิ่งได้มีโอกาสกลับไปเก็บวิชาแป้งร่ำ กับน้ำอบไทย ที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม เปิดอบรมในวันเสาร์ที่ 8 เมษายน ในช่วงเช้า 9.00 - 12.00 น. เป็นกิจกรรมที่สอนโดยอาจารย์จากวิทยาลัยในวังหญิง
หลังจากที่หลายคนรู้ว่ารรินไปเรียนแป้งร่ำมา ก็มีคำถามที่ถูกถามเข้ามาว่า แป้งร่ำคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร และใช้ทำอะไร.... ตอบเบื้องต้นก่อนว่า แป้งร่ำ มิช่ายดินสอพองนะจ๊ะ .... แป้งร่ำ เป็นเครื่องหอมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ใช้ในพิธีมงคล หรือ เจิมสิ่งของต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล
ส่วนน้ำอบไทย ก็เป็นหนึ่งเครื่องหอมของไทย หรือจะเรียกอีกอย่างให้เข้าใจมากขึ้นได้ว่า น้ำอบไทย ก็คือน้ำหอมแบบไทยๆนั่นเอง อันนี้น่าจะเห็นบ่อยในช่วงวันสงกรานต์ ใช้สำหรับสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ และประพรมร่างกายเพื่อความสดชื่น เย็นสบาย
การเรียนครั้งนี้ การสอนเป็นลักษณะการสาธิต เพราะเครื่องปรุงและวัตถุดิบต่างๆ ได้มีการทำเตรียมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์จะสาธิตวิธีการผสมที่ทุกอย่างจะดูง่าย แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าถามถึงวิธีทำของส่วนผสมแต่ละตัว กว่าจะตั้งพร้อมเตรียมผสม ไม่ได้ทำกันง่ายเลย
การทำน้ำอบเปล่า ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำอบไทย และเป็นส่วนผสมที่สำคัญของการทำแป้งร่ำ กว่าจะมาเป็นน้ำสีเหลืองอำพันในโหลกระเบื้องเคลือบพร้อมผสม ต้องผ่านมาหลายขั้นตอน และอัตราส่วนทุกอย่างเป็นการกะประมาณ และทำด้วยความเชี่ยวชาญ
ก่อนที่เราจะทำน้ำอบเปล่า เราต้องเตรียมกำยานปรุงให้เรียบร้อย เริ่มจากบดกำยานให้ละเอียด และนำมาคลุกเคล้ากับผิวมะกรูดตากแห้ง โดยสัดส่วน กำยาน 2 : มะกรูด 1 ต่อจากนั้นผสมให้เข้ากันกับน้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลทรายขาว อย่าให้เป็นก้อน แล้วเก็บใส่ภาชนะให้มิดชิด
ต่อจากนั้นเรามาทำน้ำอบเปล่า ตามขั้นตอนดังนี้
- ต้มน้ำสะอาด 5-10 ลิตร
- นำก้านชะลูด (หาซื้อได้ตามร้านขายยาไทยโบราณ) ประมาณ 3 กำมือ ที่ล้างสะอาดแล้วจนน้ำใสใส่ลงไปในหม้อต้มน้ำ
- พอน้ำเดือดใส่ใบเตยหอมลงไป (เอาแต่ใบเขียวๆ ยาวประมาณ 3 นิ้ว)
- ทำการต้มไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำที่ต้มจะออกเป็นสีเหลืองคล้ายน้ำชา
- จากกนั้นยกลงจากเตา แล้วกรองด้วยกระชอนผ้า เอาแต่น้ำใสๆ ใส่ในหม้อเคลือบ
- อบกำยานปรุง โดยนำทวนมาไว้ตรงกลางหม้อเคลือบ แล้วนำตะคันไปเผาให้ร้อน แต่อย่าให้ร้อนจนแดง เพราะจะเกิดการลุกไหม้เมื่อเผากำยานปรุง เมื่อเผาตะคันจนร้อนได้ที่แล้ว นำตะคันมาวางบนทวน แล้วตักกำยานปรุง (ที่เราทำเตรียมไว้) 1 ช้อนชา ใส่ลงในตะคันที่ร้อน แล้วทำการปิดฝาหม้อทันที
*ข้อควรระวัง คือ เมื่อใส่กำยานปรุงในตะคัน อย่าให้เกิดไฟลุก เพราะจำทำให้น้ำอบเป็นสีดำจากเขม่าควัน หลังจากที่ปิดฝาหม้อแล้ว จะมีควันเล็ดออกมาจากฝาหม้อ เมื่อควันจากฝาหม้อหมดลง แปลว่ากำยานได้ถูกเผาจนหมดแล้ว ให้ทำซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง (มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไป) จะทำให้น้ำมีความหอมยิ่งขึ้น หลังจากนั้นทิ้งน้ำไว้ให้เย็น
- แล้วอบด้วยดอกไม้หอม เช่น ดอกมะลิ (เก็บในช่วงสายที่มะลิเริ่มบานแย้มและส่งกลิ่นหอม) ดอกกะดังงา (ฉีกฝอยและลนไฟ) และดอกชมนาด การลอยดอกไม้ ให้ค่อยๆหยิบทีละดอกวางเบาๆ บนผิวน้ำ ระวังไม่ให้น้ำกระเพื่อม ห้ามขยับหม้อ เพราะดอกไม้จะจมและเน่าในน้ำ อบดอกไม้หอมทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นกรองเอาดอกไม้ออก
- อบควันเทียนด้วยเทียนอบ แล้วกรองอีกครั้งจนได้น้ำอบเปล่าที่สะอาด ไม่มีฝุ่นหรือฝ้าลอยอยู่
เห็นไหมล่ะ ว่ากว่าจะได้น้ำอบเปล่า วิธีทำและขั้นตอนมากมาย ....
ถึงตอนนี้มีน้ำอบเปล่าแล้ว เรามาเริ่มทำน้ำอบไทยกันได้ละนะ
- นำแป้งหินมาบดผสมกับพิมเสนในอัตราส่วนที่ แป้งหินมากกว่าพิมเสน บดรวมกันให้ละเอียด แล้วใส่น้ำอบเปล่าลงไปผสมเพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน
- หลังจากนั้นนำส่วนผสมที่ได้กรองด้วยผ้าขาวบางใส่ลงในน้ำอบเปล่าหม้อใหญ่ แล้วโกรก (โกรกน้ำคือการใช้ภาชนะตักเท ยกสูงประมาณ 1 ฟุต ให้น้ำไหลไปเรื่อยๆ) เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน พักไว้
- และนำแป้งหินมาบด ใส่น้ำมันหอมทั้ง 5 ชนิด (กุหลาบ มะลิ ไอซิน ลำเจียก กระดังงา) ลงไปในสัดส่วนที่เท่ากัน และใส่น้ำอบเปล่าลงไปบดผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน
- จากนั้นนำเชื้อน้ำหอมเทผสมลงในน้ำอบเปล่าหม้อใหญ่ที่ได้โกรกส่วนผสมรอ แล้วโกรกน้ำอบไปเรื่อยๆ จนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี
ถ้าต้องการให้หอมนาน หอมทน ก็สามารถใส่หัวน้ำหอมเพิ่ม และทำการอบด้วยเทียนอบมากครั้ง
ถึงขั้นตอนนี้เราก็ได้น้ำอบไทยเป็นที่เรียบร้อย บรรจุใส่ขวดแก้วที่สะอาด จะเก็บไว้ได้นานประมาณ 6 เดือน ถ้าเก็บในตู้เย็นก็จะเก็บได้นานยิ่งขึ้น
ตอนนี้ก็มาถึงวิธีการทำแป้งร่ำกันละ
ส่วนผสมของการทำแป้งร่ำคล้ายน้ำอบไทย ไม่ว่าจะเป็น แป้งหิน เทียนอบ ก้านชะลูด พิมเสน และหัวน้ำหอม และสามารถนำน้ำอบเปล่ามาใช้ด้วยกันได้
การทำแป้งร่ำ เริ่มจากการเตรียมส่วนผสม
แป้งหิน : โดยนำแป้งหินมาบดละเอียด แล้วร่อนจนได้แป้งหินที่เนียนละเอียด หลังจากนั้นนำมาอบควันเทียน ชะมดเช็ด : นำชะมดเช็ดประมาณ 2-3 หัวไม้ขีด มาฆ่าเชื้อ โดยวางลงใบพลู ใบเนียม หรือใบตอง แล้วลนไฟจากด้านใต้ใบจนกว่าชะมดเช็ดจะละลาย ผิวมะกรูด : นำผิวมะกรูดเอาแต่ส่วนเขียวๆ มาตำให้ละเอียด หญ้าฝรั่น : สีแดง 1-2 หยิบมือ หาซื้อได้ที่ร้านขายยาโบราณ
วิธีทำแป้งร่ำ แบ่งส่วนผสมเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 : นำน้ำอบเปล่า ผสมกับแป้งหินในหม้อเคลือบ แล้วใช้ช้อนคนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนที่ 2 : นำแป้งหินและพิมเสนบดในครก และใส่น้ำอบเปล่า ผสมให้เข้ากัน แล้วกรองใส่ลงในส่วนที่ 1 ส่วนที่ 3 : นำแป้งหิน น้ำมันหอม 5 ชนิด และน้ำอบเปล่า ผสมให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในส่วนที่ 1 ส่วนที่ 4 : นำแป้งหิน หญ้าฝรั่น เปราะหอม ผิวมะกรูด ชะมดเช็ด มาบดรวมกัน ผสมน้ำอบเปล่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใส่ลงในส่วนที่ 1
เมื่อใส่ส่วนผสมทุกอย่างในหม้อเคลือบ กวนให้ทุกอย่างเข้าเป็นเนื้อเดียว ตอนเจ้าหน้าที่สาธิต ทำให้ดูแบบไม่ยาก เหมือนเอาส่วนผสมทุกอย่างมาผสมกัน แต่ สัดส่วนปริมาณแต่ละอย่างใช้กะประมาณตามประสบการณ์ ซึ่งถ้าผู้เรียนต้องการกลับไปบ้านทำ น่าจะต้องทดลองปริมาณสัดส่วนอยู่หลายหนเป็นแน่ กว่าจะได้สัดส่วนของเนื้อแป้งที่พอดีสำหรับการใช้หยอดแป้งให้เป็นเม็ด
จากนั้นนำแป้งร่ำที่ได้มาหยอดวางลงบนแผ่นพลาสติก หยอดให้เป็นเม็ดเล็กๆ ขณะหยอดก็มีเทคนิกเล็กน้อย คือ หยอดให้แป้งไม่แบน เป็นทรงสูง เม็ดแป้งจะอยู่ทรงเมื่อแห้ง และจับถุงบีบเหมือนจับดินสอ
หลังจากนั้นผึ่งลมให้แห้งสนิท แล้วเก็บใส่ภาชนะบรรจุให้เรียบร้อยอย่างเบามือ เมื่อจะนำมาใช้ก็ละลายเม็ดแป้งกับน้ำอบไทย ถ้าอยากได้กลิ่นหอมมากขึ้น ให้อบแป้งร่ำอีกครั้งด้วยเทียนอบ
และถ้ายังไม่ได้ทำการหยอดแป้งในทันที หรือหยอดไม่เสร็จ ให้เก็บใส่ตู้เย็นโดยปิดฝาหม้อให้สนิท
แล้ววว.. รริน ก็มีแป้งร่ำ กับน้ำอบไทย ใช้ในสงกรานต์ปีนี้
Rrin Rrin #สตรีศรีรัตนโกสินทร์ #HOMEiamStudio
FB: Rrin Rrin IG: homeiam_studio www.HOMEiamCooking.com
|